ภัตตาคาร ร้านอาหาร

ด้วยวิถีชีวิตของผู้คนที่เร่งรีบ และมีกิจกรรมที่ต้องทำมากมายในแต่ละวัน ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่นิยมทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน ประกอบกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของสังคมปัจจุบัน ทำให้ผู้คนหันมารับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับความนิยมอย่างสูงและขยายตัวในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับเล็กจนถึงระดับใหญ่ ดังนั้น ผู้ประกอบการรายใดที่สนใจประกอบธุรกิจนี้ จึงควรศึกษาถึงแนวคิด วิธีการจัดการร้านอาหาร รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจภัตตาคารหรือร้านอาหาร ดังต่อไปนี้
1. การขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร
ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 สถานที่จำหน่ายอาหาร หมายถึง อาคาร สถานที่ หรือบริเวณใด ๆ ที่มิใช่ที่หรือทางสาธารณะ ที่จัดไว้เพื่อประกอบอาหารหรือปรุงอาหารจนสำเร็จและจำหน่ายให้ผู้ซื้อสามารถบริโภคได้ทันที ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายโดยจัดให้มีบริเวณไว้สำหรับการบริโภค ณ ที่นั้น หรือนำไปบริโภคที่อื่นก็ตาม
สถานที่สะสมอาหาร หมายถึง อาคาร สถานที่ หรือบริเวณใด ๆ ที่มิใช่ที่หรือทางสาธารณะ ที่จัดไว้สำหรับเก็บอาหารอันมีสภาพเป็นของสดหรือของแห้งหรืออาหารในรูปลักษณะอื่นใด ซึ่งผู้ซื้อต้องนำไปทำ ประกอบ หรือปรุงเพื่อบริโภคในภายหลัง
ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใด ซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และมิใช่เป็นการขายของในตลาด ให้ยื่นคำขอ เพื่อขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร (แบบสอ.1) ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตามหลักการปฏิบัตินั้นสถานประกอบกิจการใดตั้งอยู่ในเขตท้องถิ่นใดให้ยื่นคำขอใบอนุญาตในเขตท้องถิ่นนั้น แต่หากสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหารในอาคาร หรือพื้นที่ใด มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร และมิใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อขอรับหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหาร
เมื่อผู้จัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหารได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต และตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของท้องถิ่น ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับการควบคุม และกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายอาหาร ดังนี้
  1. กำหนดประเภทของสถานที่จำหน่ายอาหารตามประเภทของอาหาร หรือตามลักษณะของสถานที่ประกอบกิจการ หรือตามวิธีการจำหน่าย
2. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง ใช้ และดูแลรักษาสถานที่ และสุขลักษณะของบริเวณที่ใช้จำหน่ายอาหาร ที่จัดไว้สำหรับบริโภคอาหาร ที่ใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร หรือที่ใช้สะสมอาหาร
3. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญ และการป้องกันโรคติดต่อ
4. กำหนดเวลาจำหน่ายอาหาร
5. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้จำหน่ายอาหารผู้ปรุงอาหาร และผู้ให้บริการ
6. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการจำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุง เก็บรักษา หรือสะสมอาหาร
7. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะของภาชนะ อุปกรณ์ น้ำใช้ และของใช้อื่นๆ
และเนื่องจากใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหาร มีอายุ 1 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ดังนั้น หากผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต จะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ซึ่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอต่ออายุใบอนุญาต และการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อกำหนดของท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น...
อ่านรายละเอียดทั้งหมด